สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช
86 หมู่ที่ 9 ถนนมะขามชุม ตำบลนาเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
โทรศัพท์ : 075-356-069 Email : ns_ops@moc.go.th
“พาณิชย์” ร่วม 3 หน่วยงาน แถลงข่าวจับกุมแก๊งคอลเซนเตอร์ ใช้นิติบุคคลบังหน้า หลอกลวงประชาชน หลัง กสทช. พบความผิดปกติใช้เบอร์โทร 02 นับหมื่นเลขหมาย โทรหาเหยื่อ ตำรวจพบมีนิติบุคคล 3 ราย เข้าไปเกี่ยวข้อง และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ข้อมูลนิติบุคคลเชิงลึก เผยยังได้วาง 7 แนวทาง ป้องกันการนำบริษัทไปใช้หลอกลวงเกิดขึ้นซ้ำอีก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ มล.ภู่ทอง ทองใหญ่ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เข้าร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการตํารวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวผลการจับกุมผู้ต้องหาคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หลังจากทุกหน่วยงานได้ประสานความร่วมมือกัน จนประสบความสำเร็จ สามารถจับกุมแก๊งคอลเซนเตอร์ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจนได้
สำหรับการจับกุมผู้กระทำความผิดในครั้งนี้ กรมได้มีบทบาทในการเชื่อมโยงและให้ข้อมูลนิติบุคคลในเชิงลึกแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน โดยเริ่มจาก กสทช. ตรวจพบความผิดปกติของการใช้งานกลุ่มหมายเลขโทรศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย 02 นับหมื่นเลขหมาย และมีการใช้งานที่ผิดปกติ จากนั้น ช่วงเดือน ต.ค.2567 ตำรวจได้เข้าสอบปากคำเจ้าหน้าที่ของกรม จากการพบความผิดปกติของการดำเนินธุรกิจในนิติบุคคล 3 ราย ซึ่งประกอบธุรกิจประเภทจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ ให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ และให้คำปรึกษาด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งได้ดำเนินธุรกิจลักษณะอุปกรณ์ตู้สาขาแบบ SIP Server (ระบบโทรศัพท์ Call Center) และต่อมาตำรวจได้สืบสวน พบว่า นิติบุคคลทั้ง 3 รายนี้ ได้กระทำผิดด้วยการนำชุดหมายเลขโทรศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย 02 ใช้โทรหลอกลวงผู้เสียหายหรือการกระทำผิดในรูปแบบแก๊งคอล เซนเตอร์ และได้ติดตามจับกุมผู้กระทำผิด
“การจับกุมผู้กระทำผิดในครั้งนี้ ได้ตอกย้ำถึงความร่วมมืออันดีและสอดประสานกันระหว่างหน่วยงานราชการที่ร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ภายใต้ภารกิจและอำนาจของแต่ละหน่วยงาน และขอชื่นชมหน่วยงานของตำรวจที่ทำงานได้อย่างรวดเร็ว เพื่อหยุดความเสียหายที่อาจเกิดกับทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยที่มิจฉาชีพได้ใช้ความน่าเชื่อถือของนิติบุคคลมาเป็นสิ่งลวงตา ทำให้ภาครัฐตรวจสอบการกระทำผิดได้ยากขึ้น แต่จากการที่กรมได้จับมือร่วมกันทำงาน เป็นเครื่องสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าจากนี้ไปมิจฉาชีพจะใช้การจดทะเบียนธุรกิจเป็นนิติบุคคลมาหลอกลวงประชาชนได้ยากขึ้น เพราะทุกหน่วยงานจะช่วยกันปิดช่องว่าง พร้อมออกมาตรการที่รัดกุมเข้มข้นขึ้น และตรวจสอบในธุรกิจกลุ่มเสี่ยงในเชิงลึกมากขึ้น”นางอรมนกล่าว
นางอรมนกล่าวว่า กรมยังได้ออกมาตรการป้องปรามการจดทะเบียนบริษัทที่อาจนำไปสู่กระทำความผิดทางกฎหมายใน 7 ด้าน คือ 1.แลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการสืบสวน สอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด 2.ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบสถานที่ตั้งนิติบุคคล 3.ลงพื้นที่ตรวจสอบ สืบสวน สอบสวน และจับกุมผู้กระทำความผิด 4.นำเทคโนโลยีมาช่วยวิเคราะห์แนวโน้มพฤติกรรมของนิติบุคคลที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจตามกฎหมาย หรือระบบ IBAS : Intelligence Business Analytic System ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ 5.เพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณารับจดทะเบียนนิติบุคคลโดยเฉพาะธุรกิจกลุ่มเสี่ยง 6.กรณีร้านค้าออนไลน์ประชาชนสามารถตรวจสอบความมีตัวตนของร้านได้ผ่านเว็บไซต์ www.trustmarkthai.com และ 7.สร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบธุรกิจให้ดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงการตรวจสอบความมีตัวตนของนิติบุคคลก่อนทำจะลงทุนใด ๆ
“กรมมั่นใจว่า การที่พันธมิตรทุกหน่วยงานพร้อมใจประสานความร่วมมือปราบปราม และแก้ปัญหามิจฉาชีพ ทั้งในรูปแบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การนำบัญชีนิติบุคคลไปทำเป็นบัญชีม้า หรือการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพรางในการประกอบธุรกิจ (นอมีนี) อย่างเข้มงวด จะทำให้ประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือในสายตานักลงทุนชาวต่างชาติ ลดความเสียหายที่จะเกิดกับภาคธุรกิจและประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างความโปร่งใสให้กับระบบธุรกิจของประเทศ”นางอรมนกล่าว
ที่มา :